ประเด็นร้อน
สรุปมติคณะรัฐมนตรีประจำ วันที่ 26 กันยายน 2560
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 27,2017
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
26 ก.ย.60 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม ครม.ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใน การขอและการยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้แก้ไขเรื่องการเยียวยาหรือชดเชยเกษตรกรมิให้เกินอำนาจตามคำสั่งฯ และรับความเห็นของกระทรวงพลังงานและข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดนิยาม “ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน” “สำรวจปิโตรเลียมขั้นต้น” และ “การเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” “กิจการระบบโครงข่ายพลังงาน” “พลังงานหมุนเวียน” “ทรัพยากรธรรมชาติ” เป็นต้น
2. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับแก่กิจการด้านพลังงาน กิจการด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ
3. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ยื่นขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อดำเนินกิจการตามกฎกระทรวงฯ ต้องไม่เป็นที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมได้รับพระราชทานหรือรับการบริจาคเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือเป็นที่ดินที่อยู่ในโครงการพระราชดำริหรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลผู้ประสงค์จะขอความยินยอม หรืออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดท้องที่ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อดำเนินกิจการตามคำขอนั้นตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด
5. กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหรือ ส.ป.ก. ที่ได้รับคำขอตามข้อ 4. ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคำขอและเอกสารประกอบคำขอ หากไม่ถูกต้องครบถ้วนให้แจ้งผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดินดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด
6. กำหนดให้มีการเยียวยาหรือชดเชยกรณีสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ทั้งนี้ การเยียวยาหรือชดเชยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง
7. กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจพิจารณาและมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินรายที่ถึงแก่ความตายหรือโอนการทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่น สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
8. กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติก่อนพิจารณายินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินที่มีขนาดเนื้อที่เกิน 500 ไร่ หรือมีระยะเวลาการขอใช้เกิน 30 ปี หรือที่ดิน ตามคำขอเป็นที่ดินที่หน่วยงานของรัฐได้ปรับปรุงและพัฒนาแปลงเกษตรกรรมหรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปที่ดินสำหรับจัดให้แก่สถาบันเกษตรกรไว้แล้ว เพื่อกิจการด้านพลังงาน ประเภทการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กิจการไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน กิจการด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ประเภทการทำเหมือง และกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ประเภทกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายในระบบโทรคมนาคม กิจการภายใต้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
9. กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ตามประเภทและวัตถุประสงค์ของกิจการตามข้อ 2. โดยให้พิจารณายินยอมหรืออนุญาตตามเนื้อที่และระยะเวลาที่มีความจำเป็นและเหมาะสมแก่การใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์และโครงการที่เสนอตามคำขอ ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ
10. กำหนดให้เลขาธิการ ส.ป.ก. หรือผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน
11. กำหนดให้การโอนหนังสือยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบ
12. กำหนดให้มติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและหนังสือการให้ความยินยอมใช้ที่ดินชั่วคราวหรือหนังสือสละสิทธิในที่ดินหรือมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นอันสิ้นผล ในกรณีที่ผู้ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตไม่เยียวยาหรือชดเชยเกษตรกร หรือไม่ส่งมอบหลักประกันและรับมอบหนังสือยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดท้องที่ที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพื่อจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยื่นหนังสือสละสิทธิในที่ดินหรือเพิกถอนมติ และพิจารณาจัดที่ดินแปลงเดิมให้แก่เกษตรกรนั้นตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป
13. กำหนดบทเฉพาะกาลดังนี้
13.1 ให้บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีหน้าที่ยื่นคำขอเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินใน เขตปฏิรูปที่ดินต่อ ส.ป.ก. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
13.2 ให้ผู้ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับมีหน้าที่ส่งมอบหลักประกันและรับมอบหนังสือยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินกับ ส.ป.ก. ตามที่ระเบียบกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
14. ถ้าบุคคลตาม 13.1 ไม่ยื่นคำขอหรือไม่ส่งมอบหลักประกัน และรับมอบหนังสือยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ ส.ป.ก. แจ้งเตือนให้ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดนั้น เมื่อล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าว ให้ ส.ป.ก. เสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมพิจารณาสั่งให้ความยินยอมหรือไม่ยินยอม อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของบุคคลที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับนั้นเป็นอันสิ้นผล
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับที่.. พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับที่.. พ.ศ. .... ตามที่ศาลปกครองเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ศาลปกครองเสนอ
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับที่.. พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจศาลปกครองดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองได้ แก้ไขเพิ่มเติมเหตุที่จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตุลาศาลการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งให้สอดคล้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการเลือก การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 231 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ฟ้องคดีอาจยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โทรสาร หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 เพื่อจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นส่วนราชการภายในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว นอกจากนี้ ได้เปลี่ยนชื่อสำนักช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็น “กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มท. เพื่อให้มีความเหมาะสม
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2551
การแบ่งส่วนราชการเดิม |
การแบ่งส่วนราชการใหม่ |
1. ให้สำนักงาน ป.ป.ท. มีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2. ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงาน ป.ป.ท. ประกอบด้วย
(1) สำนักงานเลขาธิการ (2) กองการต่างประเทศ (3) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (4) สำนักคุ้มครองและป้องกัน (5) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (6)-(10) สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1-5 (11)-(19) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 1-9 |
1. กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ท. มีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยการจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ และแผนพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กำกับและตรวจสอบเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ติดตามและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในภาครัฐ แสวงหาข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และบรรลุผลตามเป้าหมายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
2. กำหนดให้แบ่งส่วนราชการสำนักงาน ป.ป.ท. ประกอบด้วย
(1) สำนักงานเลขาธิการ (2) กองกฎหมาย (3) กองการต่างประเทศ (4) กองบริหารคดี (5)-(9) กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1-5 (10) กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (11) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (12) กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต (13) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (14)-(22) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1-9 |
เศรษฐกิจ- สังคม
5. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการแนวทางการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบแนวทางการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนด้านเงินทุน โดยการดำเนินโครงการการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ให้ กษ. รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
2. รับทราบการส่งเสริมตลาดสินค้าวิสาหกิจชุมชนผ่านโครงการ “วิสาหกิจชุมชนแฟร์ 2018” สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ กษ. ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ให้เป็นแหล่งทุนและกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน
2) เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน หรืออุดหนุนแก่วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยีด้านการผลิต การตลาด การรับรองคุณภาพและแหล่งกำเนิดสินค้า และการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
3) เพื่อให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเห็นชอบ
4) เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับให้ยืมแก่วิสาหกิจชุมชุน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาตามแผนพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
เป้าหมาย : จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร กษ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดให้ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548
ระยะเวลาดำเนินงาน : ปีงบประมาณ 2560-2564
2. ระยะเวลาดำเนินงาน : ปีงบประมาณ 2560-2564 กษ. โครงการ “จัดงานวิสาหกิจชุมชนแฟร์ 2018” วัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน 2) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ และ 3) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนให้มากขึ้น
เป้าหมาย : จัดงานวิสาหกิจชุมชนแฟร์ 2018 จำนวน 1 ครั้ง ระยะเวลา 5 วัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กิจกรรมและวิธีการดำเนินงาน :
การนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ ประกอบด้วย
1) การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนที่มีผลงานดีเด่นและเป็นต้นแบบในการพัฒนา
2) การใช้กระบวนการวิสาหกิจชุมชนในการสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ การแก้ไขราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น
3) กระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนสู่ Smart Product ที่มี การเชื่อมโยงวัตถุดิบคุณภาพจากการส่งเสริมการเกษตรระบบแปลงใหญ่ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่า (Value added) ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีนวัตกรรมตามแนวทาง Thailand 4.0
4) ผลการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
2. การมอบรางวัลแก่วิสาหกิจชุมชนที่ชนะเลิศ การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2560
3. การจัดจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน ภายใต้แนวคิด “Smart Products by วิสาหกิจชุมชน” โดยเป็นการนำเสนอสินค้าระดับดีเด่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีคุณภาพ และให้การรับรองมาตรฐานจากผู้ผลิตวิสาหกิจชุมชนโดยตรงแก่ผู้บริโภค รวมถึงการเจรจาเพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคต
ระยะเวลาการดำเนินงาน : ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561
6. เรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งนักวิชาการแรงงานให้กับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จำนวน 65 อัตรา ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 และครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. เสนอ
7. เรื่อง แผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกใน การพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการยกระดับ การบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 กำหนดแผนงานออกเป็น 5 แผนงาน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
แผนงานที่ 1 การปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน ระยะที่ 2
พิจารณาลดรายการเอกสารหลักฐานประกอบ เพื่อเป็นการลดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายและ
ระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมเอกสารในการติดต่อราชการของประชาชน
2) การลดขั้นตอนและระยะเวลาแล้วเสร็จตามคู่มือสำหรับประชาชน โดยตั้งเป้าหมายลดระยะเวลาแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30-50
3) การปรับปรุงรูปแบบของคู่มือสำหรับประชาชน ให้มีรูปแบบสวยงามเข้าใจง่าย ข้อมูลชัดเจนและครบถ้วน
4) การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อลดขั้นตอนการให้บริการโดยการจัดทำ One Stop Service
6) ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานาน หรือมีการมอบอำนาจหรือกระจายอำนาจ เพื่อให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
7) การคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบ ในการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนในระยะที่ 2 ภายใต้
แนวคิด “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง”
แผนงานที่ 2 การจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา
สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นควรให้หน่วยงานราชการพิจารณาจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา
โดยขอให้จัดทำแผนการดำเนินงานจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา (ภาษาไทยควบคู่ภาษาอังกฤษ) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับความพร้อมและจำนวนเอกสารที่จะต้องแปล โดยเริ่มดำเนินการในปี 2560 และให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564
แผนงานที่ 3 การพัฒนาระบบติดตามการให้บริการ (Tracking system)
ระยะที่ 1 ปรับปรุงกฎ ระเบียบให้หน่วยงานผู้อนุญาตสามารถแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้ยื่นคำขอ
เป็นหนังสือ หรือผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดรูปแบบของหนังสือแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยงาน
ระยะที่ 2 ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยให้หน่วยงานผู้อนุญาตรายงานการพิจารณาที่ล่าช้า
ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะสร้างไฟล์เอกสารหนังสือแจ้งเหตุความล่าช้าด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและจัดส่งไปยังผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวสามารถแจ้งผู้ยื่นคำขอผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น SMS e-Mail
ระยะที่ 3 พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับคำขอตามกฎหมายว่าด้วยการ
อนุญาต และผู้ยื่นคำขอและหน่วยงานกำกับสามารถติดตามสถานะการดำเนินการพิจารณาคำขอทุกรายการและ ทุกขั้นตอนได้ทันที รวมถึงมีระบบแจ้งเตือนผู้ยื่นคำขอและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลา ตามคู่มือสำหรับประชาชน
แผนงานที่ 4 การอำนวยความสะดวกในการจองคิวกลางและการให้ข้อมูลป้อนกลับของ
ประชาชนต่อการบริการ (Citizen Feedback Survey)
1) ระบบการจองคิวกลาง เพื่อการอำนวยความสะดวกในการรับบริการจากภาครัฐ มีลักษณะเป็น
การจองคิวออนไลน์ในรูปแบบการให้บริการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบศูนย์กลางของภาครัฐ โดยสามารถจองคิวล่วงหน้า และมีระบบการแจ้งเตือนคิวผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่
2) ระบบการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่มาใช้บริการของภาครัฐ (Citizen Feedback)
เป็นการพัฒนาช่องทางที่เหมาะสมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อมารับบริการจากหน่วยงานของรัฐ และนำความคิดเห็นดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพ
แผนงานที่ 5 การทบทวนกฎหมายในการยกเลิกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น
ระยะที่ 1 ปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน โดยให้คงเหลือ
เฉพาะคู่มือกลาง จำนวน 5,724 คู่มือ เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานให้เหมือนกันทุกหน่วยงานสาขา / ภูมิภาค
ระยะที่ 2 ปรับลดจำนวนประเภทกระบวนงาน โดยคัดเลือกกระบวนงานประเภทการจด
ทะเบียนให้มีการจดแจ้งผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 50 ของกระบวนงานดังกล่าวและปรับปรุงให้กระบวนงานประเภทการรับแจ้ง / จดแจ้งสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
ระยะที่ 3 พิจารณาทบทวนกฎหมายในกระบวนงานประเภทที่เหลือ ได้แก่ การออกใบอนุญาต
การออกใบอนุญาตแบบไม่มีใบอนุญาต และการจดทะเบียน/ขึ้นทะเบียน เพื่อปรับลดกระบวนงาน โดยมีเป้าหมายให้คงเหลือประมาณ 1,000 กระบวนงาน
8. เรื่อง ร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 – 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)เสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 – 2564
2. เห็นชอบให้สำนักงาน ปปง. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ พ.ศ. 2560 – 2564 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
สาระสำคัญร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 – 2564 ประกอบด้วย8ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างกลไกการป้องกันสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจากการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการสนับสนุบทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างระบบการป้องกันองค์กรไม่แสวงหากำไร/นิติบุคคลจากการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับงานด้านข่าวกรองทางการเงิน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความเสี่ยง
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับการดำเนินคดีอาญาฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่
การก่อการร้าย
ยุทธศาสตร์ที่ 6 เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งภาคประชาสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 7 พัฒนาระบบการบริหารจัดการ (กฎหมาย/นโยบายและมาตรการ/บุคลากร/ฐานข้อมูล) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 8 ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
9. เรื่อง ขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. ให้สำนักงาน ปปง. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 (เรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558) ในการจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยใช้เงินจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ ให้สำนักงานปปง. เร่งดำเนินการบรรจุข้าราชการในอัตราที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 (เรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของสำนักงาน ปปง. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วและยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ
2. ให้สำนักงาน ปปง. ปรับปรุงกระบวนงานในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงานโดยพิจารณาใช้ประโยชน์จากอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการที่มีอยู่ทั้งหมดให้ เกิดประสิทธิภาพและจัดทำแผนอัตรากำลังที่เหมาะสมร่วมกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานตามภารกิจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ได้รับ การจัดจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเรียกร้องขอให้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการในภายหลัง
10. เรื่อง การขอรับเงินสนับสนุนกรณีการจัดเดินรถเชื่อมต่อตามโครงการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ (บขส.) เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ 3 สถานี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 24.773 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดรถรับส่งผู้โดยสารกรณีการจัดเดินรถเชื่อมต่อตามโครงการจัดระเบียบรถตู้โดยสารธารณะ (บขส.) เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ 3 สถานี [ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ใหม่ (ปิ่นเกล้า) สถานีจตุจักรและสถานีเอกมัย] ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยเบิกจ่ายในงบอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564 และประกาศใช้เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์หลักและกรอบแนวทางการพัฒนาสตรี ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
ทั้งนี้ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินการตามร่างยุทธศาสตร์ฯ ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตรีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และเมื่อมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้ พม. พิจารณาทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีแห่ง พ.ศ. 2560-2564 อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย มีเจตคติ ที่เคารพความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรมและปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสตรีในสังคมไทยทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาวะลำบาก หรือกลุ่มด้อยโอกาส โดยเน้นให้สตรีมีสุขภาพกายและใจ สุขภาวะที่ดี สตรีสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐานมีระดับการศึกษาและความรู้ที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเข้าถึงข้อมูลความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างมีศักยภาพ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และทันโลกทันสมัย โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมในประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมพลัง เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่มและทุกระดับ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิผลและเสมอภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ขจัดปัจจัยเสี่ยง ป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยา และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความเข้มแข็งของกลไกและกระบวนการพัฒนาสตรี
12. เรื่อง แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564)
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. ให้ปรับชื่อแผนยุทธศาสตร์เรื่องนี้ให้มีความเหมาะสม จากเดิม“แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564)” เป็น “แผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564)”
2. เห็นชอบแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนฏิบัติการ (Action Plan) โดยในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการ ให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเหมาะสม โดยดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ให้ สธ. บูรณาการการดำเนินงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อมโยงแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อให้การดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนานโยบายสาธารณะและกฎหมายที่สนับสนุนการป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ เป้าประสงค์ ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อลดลง เนื่องจากมีนโยบายและกฎหมาย พร้อมการใช้บังคับที่เอื้อต่อการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เร่งขับเคลื่อนทางสังคม สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเป้าประสงค์ ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพชุมชน/ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เป้าประสงค์ ชุมชนสามารถบริหารจัดการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่ออย่างมีส่วนร่วม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการข้อมูล เป้าประสงค์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถชี้เป้าประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย พื้นที่เสี่ยง สภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา เพื่อนำไปสู่การออกมาตรการป้องกัน ควบคุม ลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปการจัดบริการเพื่อลดเสี่ยงและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นที่ เป้าประสงค์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อลดภาวะเสี่ยง ควบคุมภาวะเจ็บป่วยได้ ชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ เป้าประสงค์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
13. เรื่อง ร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อให้ใช้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนภาครัฐ
2.ให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเร่งพัฒนาตนเองและสนับสนุนการพัฒนาผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีทักษะด้านดิจิทัลในระดับที่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมการทำงานหรือการให้บริการภาครัฐที่ทันสมัยและมีการเชื่อมโยงการทำงานและข้อมูลข้ามหน่วยงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยนำร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาด้วย
3.ให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการนำร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลไปปรับใช้ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนในสังกัด ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยให้มีการส่งเสริมและสนับสุนนการนำทักษะด้านดิจิทัลที่พัฒนาไปใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการทำงานและการให้บริการของรัฐ การสร้างองค์กรภาครัฐที่ทันสมัย การเชื่อมโยงการทำงานและข้อมูลข้ามหน่วยงาน และการสร้างรัฐบาลแบบเปิดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
4. ให้สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานในสังกัด สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนการดำเนินงาน งบประมาณ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ตามร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอย่างต่อเนื่องด้วย
สาระสำคัญของร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล สรุปได้ดังนี้
1.วัตถุประสงค์
เพื่อให้ภาครัฐมีกำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลที่เหมาะสมที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญใน
การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั้ง และยั่งยืน
ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังในบริบทของการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.เป้าหมาย
ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาครัฐมีกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีทักษะที่เหมาะสมในการดำเนินบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังในการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ภาครัฐใช้เทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการและการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้รับบริการสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ
3. ขอบเขตการดำเนินงาน
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
เป้าหมาย |
2561-2562
2563
2564-2565 |
ครอบคลุมข้าราชการพลเรือนสามัญและผู้ปฏิบัติงานในกระทรวง กรม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ
ครอบคลุมข้าราชการฝ่ายพลเรือน
ครอบคลุมข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้งหมด |
4. หลักการ
1)การพัฒนาที่เชื่อมโยงทิศทางและแนวทางการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลมาสู่การ
พัฒนาระดับบุคคล
2)การพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างผู้นำเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาขีดความสามารถกำลังคนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3)การพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนากรอบความคิดที่สนับสนุนการสร้างระบบและการทำงานแบบดิจิทัล (Digital Mindset)
4)การพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความสามารถเพื่อการทำงานในปัจจุบัน (ร้อยละ 70 ของระยะเวลาการพัฒนา) และการเตรียมความพร้อมเพื่อการทำงานในอนาคต (ร้อยละ 30 ของระยะเวลาการพัฒนา)
5)การพัฒนาที่ส่งเสริมการสร้างสมดุลของกระบวนการเรียนรู้ และการสร้างเครื่องมือและกลไกสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
6)การพัฒนาที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงและสอดประสานระหว่างการพัฒนาบุคลากร
7)การบริหารองค์กร และการบริหารทรัพยากรบุคคล
5.บทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังต่อข้าราชการและบุคลากรภาครัฐในการปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล
เพื่อให้การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ มีความสอดคล้องกับบทบาทและลักษณะงานที่ปฏิบัติของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ จึงได้จัดกลุ่มข้าราชการและบุคลากรภาครัฐซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 ผู้บริหารระดับสูง กลุ่ม 2 ผู้อำนวยการกอง กลุ่ม 3 ผู้ทำงานด้านนโยบายและงานวิชาการ กลุ่ม 4 ผู้ทำงานด้านบริการ กลุ่ม 5 ผู้ปฏิบัติงานเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และกลุ่ม 6 ผู้ปฏิบัติงานอื่น
14. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2560
สาระสำคัญของเรื่อง
เนื่องจากวันที่ 25 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอเกี่ยวกับการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 ประกอบกับเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อการให้สวัสดิการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางตามมาตรการใหม่ มีความถูกต้องครบถ้วน สมบูรณ์ และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสในการเดินทางมาร่วมงาน
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในระหว่างที่การออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้มีสิทธิ์ยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้ขยาย ระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2560
15. เรื่อง ขออนุมัติการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ
2. กระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอไม่กระจุกตัว จากสัดส่วน 72 : 23 : 5 : เป็น : 30 : 20 : 50
3. เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า
4. ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนในระบบปลูกข้าว
เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ : รวม 0.7 ล้านไร่ เกษตรกร 47,000 ราย โดยดำเนินการในพื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลางในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง ทดแทนพื้นที่นาปรังในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดฤดูการเพาะปลูก (พฤศจิกายน – เมษายน) ในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี และภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี
คุณสมบัติเกษตรกร : เป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีความประสงค์เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจที่จะเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกรอบที่ 2 ในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์และที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายละไม่เกิน 15 ไร่
16. เรื่อง เกี่ยวข้องกับงานพระบรมศพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องเกี่ยวข้องกับงานพระบรมศพ ตามที่คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในคราวประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560 เสนอ ดังนี้
1. ให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดราชการเพียงวันเดียว เนื่องจากใน วันพุธที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันออกพระเมรุมาศก่อนวันถวายพระเพลิง และวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันต่อเนื่อง คณะกรรมการฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยและการจราจร คณะกรรมการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศ และคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการ ได้วางแผนรองรับครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัตินั้น เนื่องจากการปฏิบัติงานในพิธีช่วงก่อน และหลังวันที่ 26 ตุลาคม เป็นการปฏิบัติราชการ จึงให้หน่วยงานเจ้าสังกัดพิจารณาผ่อนผัน หากจะต้องใช้เวลาราชการเพื่อการเดินทาง และเตรียมการตามสมควร
2. ขยายเวลาการไว้ทุกข์ของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเดิมเคยมีประกาศกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยขยายจากวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2560 จนไปถึงวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 อันเป็นวันเก็บพระบรมอัฐิ รวมเวลา 15 วัน
3. ให้สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ทำการของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศ ลดธงครึ่งเสา ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2560 ถึงวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 รวมเวลา 15 วัน
4. ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกทุกข์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
5. ให้เริ่มเก็บผ้าระบาย ป้ายส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ตามสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560
6. ให้ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือและซักซ้อมทำความเข้าใจสถานบันเทิง และสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ งดหรือลดกิจกรรมบันเทิงในเดือนตุลาคมตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
7. ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับสมัครจิตอาสาเฉพาะกิจ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งประชาชนทั่วไปได้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วนั้น โดยที่ยังมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเข้าใจว่าผู้มีคุณสมบัติที่สามารถสมัครจิตอาสาดังกล่าวจำกัดเฉพาะประชาชนทั่วไป จึงสมควรให้หัวหน้าส่วนราชการขอความร่วมมือข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มิได้รับมอบหมายภารกิจหน้าที่ให้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เข้าร่วมสมัครจิตอาสาเฉพาะกิจงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาฯ สนามเสือป่า หรือในต่างจังหวัด ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
17. เรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
คณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 500 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ
สาระสำคัญของโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ประกอบการส่งออก/นำเข้าที่มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี และเป็นสมาชิกของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นลำดับแรกสำหรับผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้มีอำนาจตัดสินเท่านั้น
2. ลักษณะคูปองและเงื่อนไขการใช้ คูปองออกโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้วงเงิน 30,000 บาทต่อราย โดยที่คูปองดังกล่าวไม่สามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนหรือทอนเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้คูปองได้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการและใช้ได้จนกว่าจะครบวงเงินหรือหมดอายุ
3. การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ FX Options ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้คูปองเพื่อการซื้อเงินตราต่างประเทศ FX Options เท่านั้น (ห้ามใช้เพื่อการขายเงินตราต่างประเทศ FX Options) โดยสามารถซื้อได้เฉพาะเงินตราต่างประเทศ FX Options ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการซื้อขาย Options แบบธรรมดาที่ไม่มีความซับซ้อน (Plain Vanilla Option) และสามารถใช้สิทธิ์เมื่อใดก็ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด (American Options)
4. หัวข้อหลักสูตรอบรม กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินการ การอบรมเน้นการให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการใช้คูปองเป็นสำคัญ และอาจรวมถึงเรื่องอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น วิธีชำระเงินการบริหารความเสี่ยงด้านการค้าต่างประเทศ การจัดทำบัญชีและภาษีเบื้องต้น การขอสินเชื่อกับธนาคารเป็นต้น โดยกำหนดผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมายในระยะแรกประมาณ 5,000 ราย
ต่างประเทศ
18. เรื่อง การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 1 (1st Asia-Pacific Ministerial Forum of Management of Social Transformations Programme - MOST)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 1 (1st Asia-Pacific Ministerial Forum of Management of Social Transformations Programme - MOST) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และหากจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารผลลัพธ์ฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ศธ. พิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
สำหรับการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่22 -23 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย ภายใต้หัวข้อหลักคือ Inclusive Social Development (การพัฒนาสังคมสำหรับทุกคน) โดยเอกสารผลลัพธ์ฯ
มีสาระสำคัญ เช่น (1) การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบโครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของยูเนสโก การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) การส่งเสริมการกำหนดนโยบายบนหลักฐานอ้างอิงผ่านการดำเนินความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาสังคม และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ (3) ส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นต้น
19. เรื่องการขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน การพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) (Draft Joint Statement of the Twenty Third Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Ministerial Meeting) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมให้ สศช. สามารถดำเนินการได้ โดย สศช. จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลังหากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกให้การรับรอง ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน IMT-GT โดยไม่มีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 23 ในวันที่ 29 กันยายน 2560
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการชื่นชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานในรอบปี 2559 – 2560 และการขับเคลื่อนแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 – 2564 (IB2017-2021) เพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ปี 2579 ของ IMT-GT ซึ่งได้รับรองในที่ประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT ตลอดจนเป็น การยืนยันเจตนารมณ์ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การขับเคลื่อนโครงการด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน การพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าวในด้านต่าง ๆ เช่น การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
20. เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชนเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1.เห็นชอบการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชน (United Nations
Security Council-UNSC) ที่ 2345 (ค.ศ. 2017) เกี่ยวกับมาตรการลงโทษสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)
2. มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดำเนินการได้ดังต่อไปนี้
2.1ถือปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.2มอบหมาย พณ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามวรรค 4-5 วรรค 13-16 และวรรค 18 ของข้อมติฯ ที่ 2375 (ค.ศ. 2017) และมาตรการตามข้อมติฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของวรรคดังกล่าว
2.3 มอบหมาย รง. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามวรรค 17 ของข้อมติฯ ที่ 2375
(ค.ศ. 2017) และมาตรการตามข้อมติฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของวรรคดังกล่าว
2.4มอบหมาย สมช. กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรือ
ที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งรวมถึงมาตรการคามวรรค 7-12 และวรรค 22 โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในของไทย ทั้งนี้ กต. ได้จัดการประชุมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อมติ UNSC ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินการต่อเรือข้างต้นตามพันธกรณีระหว่างประเทศจากข้อมติฯ ที่เกี่ยวข้อง
2.5ปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการลงโทษเกาหลีเหนือให้ทันสมัยตามข้อมูลเว็บไซต์ของ
สหประชาชาติ (https://www.in.org/sc/suborg/en/sanctions/1718) ทั้งนี้ สหประชาชาติ (United Nations : UN) จะปรับปรุงรายชื่อบุคคล องค์กร และเรือ ที่ถูกมาตรการลงโทษภายใต้หัวข้อ “Sanctions List Materials” เป็นระยะ และจำกำหนดรายการสิ่งของภายใต้หัวข้อ “Prohibited ltems” ในภายหลัง
2.6ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องพึงระวังและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ
มติฯ
2.7แจ้งการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ กต. ทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อ UN
ต่อไป และหากพบข้อขัดข้องหรืออุปสรรคในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าว ให้แจ้ง กต. ทราบด้วย
21. เรื่อง โครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
กับประเทศกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกับประเทศกัมพูชา โดยสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของกัมพูชา (National Authority for Combating Drugs - NACD) จำนวน 38,011,400 บาท
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้แก่ NACD จำนวน 38,011,400 บาท สำหรับดำเนินโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกับประเทศกัมพูชาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
3. อนุมัติให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณของโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกับประเทศกัมพูชา เพื่อนำไปสนับสนุน NACD ตามเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบการร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยการทบทวนการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับโลกแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยการทบทวนการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับโลกแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ร่างปฏิญญาฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. สามารถดำเนินการได้ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558)
ที่กำหนดว่า หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกของสหประชาชาติในการส่งเสริม การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลเสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งการดูแล การช่วยเหลือ การเยียวยาและพักฟื้นผู้เสียหายและผู้รอดชีวิต ตลอดจนการเพิ่มความเข้มแข็งระหว่างรัฐภาคีร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างขีดความสามารถและความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการป้องกันการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ และการจัดการฝึกอบรมบุคลากรด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
23. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ
(1) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 35
(2) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น
และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 14
(3) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเซียตะวันออก ครั้งที่ 11
(4) ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ทั้ง 4 ฉบับนี้ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ พน. และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงฯ 4 ฉบับสรุปได้ ดังนี้
1.ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 35 เป็นการให้ความสำคัญกับดำเนินงานตามแผน APAEC พ.ศ. 2559 - 2568 ในส่วนเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 13 เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน การพัฒนานโยบายด้านน้ำมัน
ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและแนวทางการสำรองน้ำมันในอาเซียน
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกครั้งที่ 11 เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
4. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ IRENA (องค์การระหว่างประเทศ) ในการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งการดำเนินการตามแผน APAEC พ.ศ. 2559 - 2568 ในส่วนของการพัฒนาพลังงานทดแทนและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการมีบันทึกความตกลงเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในระยะยาวและสอดคล้องกับแผน APAEC พ.ศ. 2559 - 2568 รวมทั้งพิจารณาให้มีการประชุมระหว่างอาเซียนและทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศผ่านการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน 2 ปีครั้ง และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานเป็นประจำทุกปี
แต่งตั้ง
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายสุชาติ สินรัตน์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ จังหวัดเชียงใหม่ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ กรณีรัฐบาลญี่ปุ่นมีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นายคาซูโนริ คาวาเดะ (Mr. Kazunori Kawada) ให้ดำรงตำแหน่ง กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ สืบแทน นายชิงยะ อาโอกิ (Mr. Shinya Aoki) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางสาวชลิดา โชไชย ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
2. นายสิงคิ์ วิเศษพจนกิจ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายยงยุทธ จันทรโรทัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายกิตติศักดิ์ กลับดี ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นางมยุรา กุสุมภ์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
29. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) รวม 5 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ดังนี้
1. นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) ประธานกรรมการ
2. นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ
3. นายนพพร เทพสิทธา กรรมการ
4. นายมาส ตันหยงมาศ กรรมการ
5. นายกำธร ตติยกวี กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่จะว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
31. เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่อีกหนึ่งวาระ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ในเดือนตุลาคม 2560 ให้คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. นายไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
2. รองศาสตราจารย์ไชยา ยิ้มวิไล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
3. พลเอก รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
4. รองศาสตราจารย์ ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
5. พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
6. นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม วันที่ครบวาระ 7 ตุลาคม 2560
7. นางจินตนา ชัยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ครบวาระ 25 ตุลาคม 2560
32. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง รวม 14 คน แทนกรรมการอื่นเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 จำนวน 8 คน และแทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่น รวม 2 คน ลาออก รวมทั้งแทนผู้ที่ลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 จำนวน 3 คน ดังนี้
1. นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานกรรมการ
2. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
3. ศาสตราจารย์สุวัฒนา จิตตลดากร (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
4. นายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการอื่น
5. นายวันชัย หล่อวัฒนตระกูล (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
6. นายรอยล จิตรดอน กรรมการอื่น
7. นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ กรรมการอื่น
9. นายชัยชนะ มิตรพันธ์ กรรมการอื่น
10. นายทองเปลว กองจันทร์ กรรมการอื่น
11. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
12. รองศาสตราจารย์ชนินทร์ ทินนโชติ (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ)
กรรมการอื่น
13. พลเรือโท ณเดโช เกิดชูชื่น กรรมการอื่น
14. นางศิริพร เหลืองนวล ผู้แทนกระทรวงการคลัง (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสมชาย
หาญหิรัญ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
34. เรื่อง การปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 241/2560 เรื่อง การปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 309/2559 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2559 นั้น
เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกความในข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 6.1.3 และข้อ 7.1.3 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 309/2559 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“2.2 มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2.3 มอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
2.3.1 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
2.3.2 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
2.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 2.1 – 2.3 ยกเว้นในข้อ 1.5.1-ข้อ 1.5.7”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน